วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผลวัตทางจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพทางคอมพิวเตอร์


จากข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2553 ที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจุดพอดีของสิทธิเสรีภาพของการใช้งานไอทีและความมั่นคงปลอดภัยของคนไทย หน่วยงาน หรือองค์กรรัฐในด้านข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงข่าวล่าสุดเมื่อปลายเดือนที่แล้วเกี่ยวกับ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลก็โดนกลุ่มผู้ใช้ร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยการติดตามตำแหน่งของผู้ใช้โทรศัพท์ไอโฟน ย่อมแสดงให้เห็นแนวความคิดที่หลากหลายเกี่ยวกับ ’สิทธิ“ และ ’ความมั่นคง“ ที่คั่นไว้ด้วย ’กฎ“ ที่ทยอยออกมาเพื่อใช้แทนข้อตกลงในการป้องกันความเกินพอดีของสิทธิและความมั่นคงของการใช้งานไอทีที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วมาก จนกฎที่ว่านั้นเองก็ตามไม่ทันจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามยุคสมัยและแต่ละกรณีไป
   
ในแง่มุมของนักพัฒนาคอมพิวเตอร์นั้นมีเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าคือ “จรรยาบรรณ” และ “วิชาชีพ”  โดยจรรยาบรรณ (ethics) คือหลัก หรือแนวทางสำหรับใช้ในการตัดสินใจว่าเรื่องหรือการกระทำนั้น “ถูก” หรือ “ผิด” ในแง่มุมของสังคมส่วนรวม ส่วนวิชาชีพ (conduct) คือประมวลกฎที่ร่างไว้เกี่ยวกับความรับผิดชอบ หรือแนวปฏิบัติที่ดี ในแง่มุมของสังคมส่วนรวม โดยมากบัญญัติในระดับบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพนั้น สำหรับการทำงานภายในองค์กร และสำหรับองค์กรทางวิชาชีพที่ต้องมีต่อสังคม
   
ในระดับสากลจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพคอมพิวเตอร์ได้เสนอไว้โดยสมาคมวิชาชีพทางคอมพิวเตอร์ระดับสากลเรียกกันว่า เอซีเอ็ม (ACM) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 โดยมีบัญญัติ 24 ข้อ ครอบคลุมแนวคิดกว้าง ๆ เกี่ยวกับความรับผิดชอบระดับบุคคล ระดับผู้ประกอบวิชาชีพ ระดับองค์กร และระดับแวดวงนักคอมพิวเตอร์ สามารถหาดูเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ http://www.acm.org/about/code-of-ethics
   
เมื่อพูดถึงคอมพิวเตอร์แล้วปัจจุบันเราคงมีภาพในหัวแตกต่างกันออกไป หากเป็นวัยคุณปู่คุณย่าอาจจะนึกถึงตู้ใหญ่ ๆ ที่ตั้งรวมอยู่ในห้องแอร์เย็นเฉียบ แต่ถ้าวัยคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะนึกภาพของพีซีที่ยังคงมีหลงเหลือเค้าโครงให้เห็นในปัจจุบัน แต่หากถามเด็ก ๆ วัยรุ่นยุคใหม่อาจจะนึกไปถึงโน้ตบุ๊ก หรือยิ่งกว่านั้นก็อาจจะนึกถึงสมาร์ทโฟน หรือกระดานชนวนอิเล็กทรอนิกส์อย่างไอแพด เป็นต้น อย่างไรก็ตามเจ้า คอมพิวเตอร์ หรือจะเรียกให้ชัดว่า “ระบบคอมพิวเตอร์” ประกอบด้วยส่วนสำคัญสี่ส่วน คือ ฮาร์ดแวร์ที่คำนวณได้ ซอฟต์แวร์ เครือข่าย และข้อมูลสารสนเทศ โดยองค์ประกอบทั้งสี่ส่วนอาจจะแตกต่างกันทางกายภาพ หรือหน้าตาขึ้นกับหน้าที่การใช้งานของแต่ละระบบ  ดังนั้นเมื่อเราจะพูดถึงจริยธรรมคอมพิวเตอร์ ก็ต้องพิจารณาไปทั้งสี่องค์ประกอบนี้ควบคู่กันไป
   
เพื่อความเข้าใจชัดเจนจะยกตัวอย่างประเด็นเฉพาะทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์นี้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ความบันเทิงอย่าง ภาพยนตร์ เกม หรือใช้ในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์อย่างโปรแกรมออกแบบเครื่องมือ หรือการจำลองการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การใช้งานในการคำนวณผลวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ภูมิอากาศ รวมไปถึงเป็นสื่อแสดงสถานการณ์จำลองประกอบการอธิบายคดีความ หรืออุบัติเหตุ ท้ายสุดยังใช้พัฒนาอาวุธทางทหารสมัยใหม่เช่นระบบนำวิธีอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ทางทหาร เป็นต้น
   
การใช้งานเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิก เองก็จำเป็นต้องมีเรื่องของจริยธรรมในฐานะผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เน็ตเวิร์ก หรือ ข้อมูล เช่น ในด้านฮาร์ดแวร์มีกรณีฟ้องร้องระหว่างผู้ผลิตกราฟิกการ์ดกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ว่ามีการผูกขาดเทคโนโลยี หรือการออกแบบกราฟิกฮาร์ดแวร์ที่ผิดพลาดทำให้เกิดการประมวลผลที่สูงเกินไปเมื่อทำงานกับเครื่องโน้ตบุ๊ก เป็นต้น ด้านซอฟต์แวร์มีประเด็นเกี่ยวกับการประมาณค่าที่ไม่ถูกต้องทางการคำนวณแต่สามารถสร้างภาพได้เพื่อประหยัดเวลาในการคำนวณซึ่งอาจจะมีผลต่อการใช้งานด้านทางการแพทย์ เช่นการนำไปวินิจฉัยโรคซึ่งอาจจะผิดพลาดจากการคำนวณที่ไม่เที่ยง การผูกขาดทางด้านซอฟต์แวร์ในการแสดงผลกราฟิกของระบบปฏิบัติการบางยี่ห้อ ความรุนแรงของซอฟต์แวร์เกมที่ผู้ใช้ซึมซับจนเกิดปัญหาสังคม  ด้านเครือข่ายมีประเด็นการใช้รูปแบบการจัดเก็บที่กระทบประสิทธิภาพการส่งข้อมูลหรือทำให้ผู้ใช้งาน มีรายจ่ายจากการใช้งานเครือข่ายมากกว่าที่ควร และด้านข้อมูลก็มีประเด็นการปกปิดรูปแบบการจัดเก็บข้อมูล หรือจัดเก็บด้วยประเภทของไฟล์ที่ซอฟต์แวร์อื่นไม่สามารถใช้งานได้ เป็นต้น
   
สำหรับคำตอบของสิ่งที่ “ถูก” หรือ “ผิด” หรือจริยธรรมของคำถามข้างบนนั้นบางปัญหาก็ตัดสินด้วยข้อกฎหมายของประเทศ นั้น ๆ ไป แต่ท้ายสุดข้อพึงระลึกไว้เสมอว่าประเด็นจริยธรรมที่ดีนั้นจะต้องไม่มีอคติ และระลึกไว้ว่าจริยธรรมกำหนดโดยแต่ละสังคมแตกต่างกันไปตามแต่ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา พื้นเพประวัติศาสตร์เป็นต้น และข้อตัดสินทางจริยธรรมมักจะไม่เป็นเอกฉันท์เนื่องจากเป็นประเด็นส่วนบุคคล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องเน้นประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง โดยมากมักเป็นแนวทางสายกลางไม่สุดขั้วไปด้านใดด้านหนึ่ง
   
ดังนั้นคำตอบที่ถูกที่สุดตลอดเวลานั้นคงไม่มี แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาสิ่งที่ ’เหมาะที่สุด“ กับสังคมของเราซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงได้ตามแต่บริบทของสังคมปัจจุบันและมองไปสู่ประโยชน์ของสังคมหมู่มากในภายภาคหน้าถึงเวลาที่ต้องคิดเกี่ยวกับจริยธรรมกันอย่างจริงจังแล้ว อย่างน้อยจริยธรรมส่วนบุคคลของตัวคุณเอง.

ผศ.ดร.พิษณุ คนองชัยยศ

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น