วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สินค้าไทยในตลาดออนไลน์



คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะคุ้นกับเทคโนโลยี แต่บางส่วนไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้า เพราะไม่รู้หรือไม่มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์หัตถกรรมฝีมือไทยจะขายได้หรือไม่ และจะขายกับใครที่ไหน 
    
เจษฎากร เหล่าดารา เจ้าของเว็บไทยแซฟไฟร์ดอตคอม (thaisapphire.com) น่าจะเป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจในโลกอีคอมเมิร์ซให้คนที่ยังขาดความมั่นใจได้เห็นว่า โจทย์นี้มีคำตอบ
    
ไทยแซฟไฟร์ เป็นเว็บที่เปิดขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้าอัญมณี เพชรพลอย ทั้งที่เป็นเม็ดและถ้าอยากได้เป็นตัวเรือนเครื่องประดับก็พร้อมให้บริการ หน้าตาของเว็บไม่เน้นความหวือหวา คลิกเข้าไปแล้วก็เห็นหน้าตาชัดเจน ไม่ต้องอ่านข้อความก็ทราบว่าขายอะไร ภาพตัวอย่างผลิตภัณฑ์วางยั่วความอยากให้เห็นกันจะ ๆ บนหน้าแรก ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้รู้แนะนำ ว่าเว็บค้าขายควรจะคลิกปุ๊บเจอปั๊บ พวกโปรแกรมที่ทำให้ดูวูบวาบวอบแวบแสดงฝีมือขั้นเทพของคนเขียนนั้น บรรดาเสิร์ชเอนจินหรือเว็บสืบค้นไม่ตอบรับ ทำให้หายากอีกต่างหาก 
    
เนื้อหาข้อความเป็นภาษาอังกฤษเพราะมีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ถ้าลูกค้าไทยรวมถึงเชื้อชาติอื่นสนใจก็ขาย
    
เจษฎากร หนุ่มวิศวะลาดกระบัง ซึ่งกำลังต่อปริญญาโททางคอมพิวเตอร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ไม่ได้เน้นทำธุรกรรมบนเว็บ แต่มีไว้เป็นหน้าร้าน กิจการส่วนใหญ่ค้าขายบนตลาดออนไลน์ใหญ่ที่สุดของโลก อีเบย์ (ebay.com) โดยเริ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซตั้งแต่เรียนปริญญาตรี ทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อน และดำเนินการจริงจังหลังจบการศึกษา เดือนพฤศจิกายน 2549 ด้วยการขอซื้อลิขสิทธิ์การจำหน่ายเสื้อผ้าชุดกีฬามาจำหน่าย ซึ่งได้ผลดี มียอดขายที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันก็ศึกษาความเป็นไปทางธุรกิจพบว่า สินค้าส่งออกมากที่สุด โดยเฉพาะที่ขายผ่านระบบออนไลน์ในตลาดอีเบย์ คืออัญมณีไทย จึงเห็นว่านี่คือโอกาสทางการค้าที่น่าสนใจ
    
“การขายออนไลน์ไม่ต้องใช้ความรู้คอมพิวเตอร์มากนัก แต่เมื่อสนใจอัญมณี ก็ต้องเข้าอบรมกับสถาบันอัญมณีศาสตร์ (AIGS) (aigsthailand.com) 4 คอร์ส ใช้เวลา 6 เดือน จนมีความรู้การตรวจสอบ แยกชนิดพลอยทั้งแท้ เทียม ดูตำหนิเป็น ตีราคาได้ ต่อด้วยหลักสูตรเกี่ยวกับเพชร ทั้งการตรวจสอบและจำแนก กับได้คำแนะนำเทคนิคทางธุรกิจ แหล่งซื้อหาที่เชื่อถือ เรียนได้สัก 2 เดือนผมก็เอาความรู้มาทดลองขายออนไลน์แล้ว ซึ่งก็ได้”
    
เจษฎากร เล่าถึงเทคนิคการตลาดของเขาโดยไม่ปิดบัง ว่ากลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งยอมรับและเชื่อมั่นระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ที่มีเพย์พาล (paypal.com) เป็นสถาบันการเงินที่บริการการค้าขายอีคอมเมิร์ซ เขาจึงต้องมีบัญชีที่ธนาคารแห่งนี้ ส่วนการติดต่อกับลูกค้าไปสื่อสารกันด้วยอีเมล คนที่เคยซื้อสินค้าหรือสนใจก็ลงทะเบียนรับข่าวสาร ส่งโฆษณาไปให้ พร้อมกันก็ตรวจสอบจากเว็บไซต์ต่าง ๆ หากพบชื่อผู้สนใจอัญมณีก็ติดต่อไปและซื้อโฆษณากับกูเกิลแอดเวิร์ด (adwords.google.com) ที่จ่ายเมื่อมีผู้คลิกโฆษณา
    
การทำงานของเขา “เจษ” เล่าว่า เมื่อได้สินค้า เช่นพลอย เข้ามา ก็ถ่ายภาพ วัดขนาด ชั่งน้ำหนัก ประเมินคุณภาพและตีราคา ด้วยสายตา การกำหนดราคาก็ขึ้นกับประสบการณ์ที่ทำให้ทราบว่าชนิดไหน เกรดใด ควรตั้งขายสักแค่ไหน ส่วนการติดต่อสั่งซื้อ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าคุณภาพสีที่ปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์กับของจริงจะต่างกันบ้าง แต่ก็จะพยายามแต่งภาพให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด หากเม็ดที่ราคาสูงอาจต้องถ่ายเป็นคลิปวิดีโอหมุนภาพให้เห็นรายละเอียดรอบด้าน กับต้องเขียนบรรยายสภาพของเพชรพลอยนั้นให้เข้าใจกระจ่าง ๆ พอ ๆ กับการได้เห็นของจริง แต่บางเม็ดมีใบรับรอง (เซอร์ติฟิเคต=“ใบเซอร์”) ก็แนบไว้ด้วย
    
ไทยแซฟไฟร์ดอตคอม เป็นผู้ประกอบการอัญมณีประเภทค้าปลีก จึงบริการลูกค้าเป็นรายชิ้น เมื่อผู้ซื้อตกลงใจสั่งของก็จะจ่ายเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิต ผ่านเพย์พาล จากนั้นทางเพย์พาลจะแจ้งให้ทราบว่ามีผู้โอนเงินค่าสินค้ามาแล้ว เจษ จึงเริ่มส่งของ บรรจุลงกล่องพลาสติกขนาดเล็กส่งทางไปรษณีย์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย หากเป็นของชิ้นใหญ่มูลค่าสูง ต้องประกันภัยสินค้าก็ส่งกับบริษัทขนส่งอย่างดีเอชแอล
    
เจษ บอกเทคนิคของเขาด้วยว่า สินค้าซึ่งเป็นอัญมณีทุกรายการจะทำซีเรียลนัมเบอร์ หรือเลขอนุกรม พร้อมภาพถ่ายไว้ในฐานข้อมูล เวลาส่งของก็ทำฉลากติดไปด้วย เพื่อประโยชน์ในระบบควบคุมสินค้าหากมีปัญหาก็ตรวจสอบได้ 
    
เขาเชื่อว่า การค้าขายอัญมณีเป็นกิจการที่มั่นคง และถ้าเทียบกับธุรกิจเสื้อผ้า จะต้องมีภาระค่าลิขสิทธิ์ ขณะที่สินค้าเพชรพลอยหาได้ ในประเทศไทย และเป็นที่สนใจของลูกค้าต่างชาติอยู่แล้ว 
    
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากค้าขายออนไลน์ เจษแนะว่า สินค้าอะไรก็ขายได้ กิจการของครอบครัวทำสิ่งใดก็นำสิ่งนั้นขึ้นประกาศขายบนเว็บ แต่ถ้าจะทำอัญมณี ก็ควรมีความรู้ ซึ่งต้องเรียน เพื่อจำแนกของแท้กับของเทียมให้ได้ รู้จักการตีราคา โดยมั่นใจว่า คนที่ผ่านการอบรม จะมีความรู้ที่ทำธุรกิจได้ เพราะตลาดยังไปได้ เนื่องจากอัญมณี เป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับความพอใจ แม้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ราคาอาจตกไปบ้างแต่ก็ยังขายได้ พอถึงช่วงเศรษฐกิจดีราคาก็ปรับขึ้นไป เพราะความต้องการมีอยู่
    
ตอนนี้ถือเป็นโอกาส เพราะตลาดเปิดกว้างมาก ทุกคนทำได้ คอมพิวเตอร์ต่ออินเทอร์เน็ตก็เขาถึงง่าย การขายของออนไลน์ ก็นำสินค้าที่เรามีขึ้นโพสต์ข้อความประกาศขาย ทำไปแล้ว ประสบการณ์จะเพิ่มขึ้น โอกาสมีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับเราว่าจะคว้าไหม  
    
จะเห็นได้ว่าขนาดสินค้าอัญมณีราคาแพงและผู้ขายไม่มีพื้นฐาน แต่เมื่อผ่านการอบรมจนมีความรู้ก็ขายออนไลน์ได้

เริ่มต้นซะทีเหอะ.

วีระพันธ์ โตมีบุญ
VeeraphanT@Gmail.com
http://twitter.com/vp2650


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น